รายงานความเสี่ยงประจำปี 2021 (The Global Risks Report 2021 16th Edition) ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum (WEF) เผยให้เห็นว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า โลกของเรามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง ความล้มเหลวของการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยทางโลกไซเบอร์
.
จึงเป็นที่มาของกรอบแนวคิดที่ใช้ขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงประเด็นพื้นฐานใน 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่ มิติสิ่งแวดล้อม (Environmental : E) มิติสังคม (Social : S) และมิติธรรมาภิบาล (Governance : G) หรือ “ESG” ที่นำไปสู่การสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการให้คำมั่นสัญญาว่าต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องเป็นการเริ่มลงมือปฏิบัติแบบจริงจัง
.
นอกจากนี้ ข้อมูลของ MSCI ESG Research LLC ได้ทำการสำรวจนักลงทุนกลุ่ม “Millennials” หรือ “Gen Y” พบว่าร้อยละ 95 ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน ในขณะที่ Gen Z และ Gen Alpha คาดหวังและเรียกร้องให้ธุรกิจมีจุดยืนที่ดีและคำนึงถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม จึงเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกไปพร้อมกัน
.
เปิด 8 เทรนด์ที่จะเปลี่ยนโลกไปสู่ความยั่งยืนในปี 2023 จะมีอะไรบ้าง ไปติดตามได้พร้อมกัน
.
1.กองทุนสีเขียว เพื่อคน เพื่อโลก
การลงทุน ESG เป็นการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบของธุรกิจตามหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งหลายบริษัทส่งเสริมการลงทุน ESG อย่างต่อเนื่อง จากสถิติในปี 2020 พบว่า มีการลงทุนในกองทุน ESG เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.76 ล้านล้านบาท ประกอบกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากผู้ถือหุ้นและนักเคลื่อนไหวเพื่อผู้บริโภค ส่งผลให้ธุรกิจต้องแสวงหาทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
.
2.เปลี่ยนคาร์บอนให้เป็นเงิน
Carbon Capture, Utilization and Storage หรือ CCUS เป็นเทคโนโลยีที่ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือเก็บไว้ในชั้นหินเพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเทคโนโลยี CCUS ได้แพร่หลายและเกิดเป็นโครงการที่เพิ่มจำนวนขึ้นจาก 20 เป็น 44 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 9.3 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีการนำนวัตกรรม CCUS ไปใช้ในโรงงานต่างๆ ซึงคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 3.4 ล้านล้านบาทภายในปี 2050
.
3.ใช้กล่องเปล่าปลูกต้นไม้ได้
เทรนด์การใช้พลาสติกสีเขียวหรือบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน โดยคาดการณ์ว่าตลาดบรรจุภัณฑ์สีเขียวจะมีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาทภายในปี 2026 อีกทั้งการใช้วัสดุรีไซเคิลมีต้นทุนการผลิตสูง จึงมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิล เช่น Biopack บรรจุภัณฑ์ใส่ไข่ไก่ที่ผสมไปด้วยเมล็ดถั่ว ที่เมื่อใช้งานเสร็จแล้วสามารถนำไปเพาะปลูกในดินได้ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 เดือนในการเติบโต
.
4.AI กลายเป็นเกษตรกรเต็มตัว
การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรให้เกิดความยั่งยืน เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในด้านอาหาร ที่เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต จากการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะการทำเกษตรในระบบปิด ด้วยการใช้นวัตกรรมหุ่นยนต์เกษตร ‘Grover’ จากบริษัท Iron Ox ที่สามารถยกน้ำหนักได้มากกว่า 1,000 ปอนด์ เพื่อเคลื่อนย้ายแปลงผักขนาด 6×6 ฟุต ช่วยในการติดตาม รดน้ำ และเก็บเกี่ยวผลผลิตจากระบบไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งระบบดังกล่าวใช้น้ำน้อยกว่าฟาร์มแบบดั้งเดิมถึง 90% และยังใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าฟาร์มในร่มที่ใช้ไฟ LED ถึง 90%
.
5.ขับเคลื่อนรถด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
The Sunswift 7 รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ที่พัฒนาโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย ได้สร้างสถิติโลกใหม่ด้วยการเดินทางเป็นระยะทาง 1,000 กิโลเมตร ด้วยการชาร์จเพียงหนึ่งครั้ง ซึ่งพิสูจน์ให้ถึงศักยภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก
.
6.ลด Food Waste ด้วย Food Bank
อีกหนึ่งแนวทางในการสร้างความยั่งยืนที่เห็นผลได้ชัดเจน คือ โครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และมูลนิธิ วีวี แชร์ (VV Share) โดยได้เริ่มนำร่องใน 10 เขตของกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินจากการรับบริจาคให้กลุ่มเปราะบางที่ขาดแคลนอาหาร และลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากอาหารส่วนเกิน โดยเชื่อมโยงการทำงานทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบต่อไป
.
7.ถึงตัวตาย แต่ใจยังรักษ์โลก
รัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านร่างกฎหมายรับรองการเปลี่ยนร่างของมนุษย์ให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก (Human Composting) โดยบริษัท Recompose ที่ใช้หลักการ ‘ปล่อยให้ร่างผู้เสียชีวิตย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ’ โดยบรรจุศพในโลงที่ย่อยสลายได้ ใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ ศพจะเปลี่ยนสภาพเป็นดินขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่นำไปใช้ปลูกต้นไม้และทำสวนได้ โดยช่วยป้องกันการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 1.4 ตัน เมื่อเทียบกับการเผาศพแบบทั่วไป
.
8.บอกลาเอกสาร จัดการด้วยคลาวด์
การจัดเก็บคลังข้อมูลที่มีลักษณะเป็น Could Computing ที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร แตกต่างจากการเก็บข้อมูลแบบเดิม ซึ่งสร้างขยะปริมาณมหาศาล จากการประเมินโดย Accenture พบว่า การย้ายข้อมูลเพื่อจัดเก็บบนคลาวด์จะช่วยลดการการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 59 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับการนำรถยนต์ออกจากท้องถนนถึง 22 ล้านคัน นอกจากนี้ยังสามารถลดต้นทุนการจัดเก็บข้อมูลและนำเงินไปใช้สนับสนุนเพื่อริเริ่มโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทในอนาคตต่อไป
.
Sources : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, Exploding Topics, Greenmatch, IMD, Eco-Business, AMAZON, Iron Ox, Environman, UNSW Sydney, VOA, BBC, ประชาชาติธุรกิจ